news

วิชา การเขียนแบบก่อสร้าง เรื่อง แบบที่ใช้ในการยื่นขออนุญาตฯ(Permit Drawings)

……การเขียนแบบเพื่อใช้ในการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง (Permit Drawings) จะมีเฉพาะรูปแบบรายการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติใหักับหน่วยงานท้องถิ่นกำหนดแบบที่ใช้ในการยื่นขออนุญาตฯ เช่นหากเป็นอาคารบ้านอยู่อาศัย ก็มีเฉพาะ
1.รายการประกอบแบบ
2.แผนผังบริเวณ
3.แบบแปลน ซึ่งจะมีแบบทางสถาปัตยกรรมและแบบโครงสร้างเท่านั้นและมีแบบขยายบ่อเกรอะ
4.รายการคำนวณ(กรณีที่ก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ)
แบบแปลน ที่เป็นแบบขยายทางสถาปัตยกรรม (ซึ่งอาจจะรวมแบบขยายบ่อเกรอะเข้าไปด้วย)ที่ต้องแสดงมีดังนี้
1.แบบขยายบันได เพราะมีข้อบังคับไว้ในข้อ 23 และ 24 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 55
ส่วนที่ 3 บันไดของอาคาร
ข้อ 23 บันไดของอาคารอยู่อาศัยถ้ามีต้องมีอย่างน้อยหนึ่งบันไดที่มีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 80 เซนติเมตร ช่วงหนึ่งสูงไม่เกิน 3 เมตร ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 เซนติเมตร ลูกนอนเมื่อหักส่วนที่ขั้นบันไดเหลื่อมกันออกแล้วเหลือความกว้างไม่น้อยกว่า 22 เซนติเมตร และต้องมีพื้นหน้าบันไดมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได
บันไดที่สูงเกิน 3 เมตร ต้องมีชานพักบันไดทุกช่วง 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น และชานพักบันไดต้องมีความกว้างและยาวไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได ระยะดิ่งจากขั้นบันไดหรือชานพักบันไดถึงส่วนตํ่าสุดของอาคารที่อยู่เหนือขึ้นไปต้องสูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร
ข้อ 24 บันไดของอาคารอยู่อาศัยรวม…..
2.แบบขยายห้องน้ำส้วม เพราะมีข้อบังคับไว้ ในกฎกระทรวงฉบับที่ 39
หมวด 2แบบและจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม
ข้อ 8 อาคารที่บุคคลอาจเข้าอยู่หรือเข้าใช้สอยได้ ต้องมีห้องน้ำและห้องส้วมไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในตารางที่ 2 ท้ายกฎกระทรวงนี้
จำนวนห้องน้ำและห้องส้วมที่กำหนดไว้ในตารางตามวรรคหนึ่ง เป็นจำนวนขั้นต่ำที่ต้องจัดให้มีแม้ว่าอาคารนั้นจะมีพื้นที่อาคารหรือจำนวนคนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในตารางวรรคหนึ่งก็ตาม
ถ้าอาคารที่มีพื้นที่ของอาคารหรือจำนวนคนมากเกินกว่าที่กำหนดไว้ในตารางวรรคหนึ่งจะต้องจัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมเพิ่มขึ้นตามอัตราส่วนพื้นที่อาคารหรือจำนวนคนที่มากเกินนั้น ถ้ามีเศษให้คิดเต็มอัตรา
ชนิดหรือประเภทของอาคารที่มิได้กำหนดไว้ในตารางตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาเทียบเคียงลักษณะการใช้สอยของอาคารนั้น โดยถือจำนวนห้องน้ำและห้องส้วมที่กำหนดไว้ในตารางดังกล่าวเป็นหลัก
ข้อ ๙ ห้องน้ำและห้องส้วมจะแยกจากกันหรือรวมอยู่ในห้องเดียวกันก็ได้โดยมีลักษณะดังต่อไปนี้
(๑) สร้างด้วยวัสดุทนทาน และทำความสะอาดง่าย
(๒) ระยะดิ่งระหว่างพื้นห้องถึงเพดานยอดฝาหรือผนังตอนต่ำสุดต้องไม่ต่ำกว่า ๒.๐๐ เมตร
(๓) มีช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศได้เพียงพอ
(๔) พื้นห้องน้ำและห้องส้วมมีความลาดเอียงไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐๐ ส่วน และมีจุดระบายน้ำทิ้งอยู่ในตำแหน่งต่ำสุดบนพื้นห้อง
(๕) ในกรณีที่มีท่อระบายอุจจาระให้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๑๐ เซนติเมตร และมีความลาดเอียงไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ส่วน
(๖) มีท่อระบายก๊าซขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า ๒.๕๐ เซนติเมตร และมีความสูงอยู่ในระดับที่กลิ่นเหม็นของก๊าซไม่รบกวนผู้อื่น
(๗) ที่ปัสสาวะต้องมีระบบการดักกลิ่นและเป็นแบบใช้น้ำชำระลงสู่ระบบกำจัดสิ่งปฏิกูล
(๘) ในกรณีเป็นอาคารที่มีบุคคลเข้าใช้สอยประจำอยู่หลายชั้น การจะจัดให้มีห้องส้วมและที่ปัสสาวะในชั้นใดให้เป็นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม
(๙) ในกรณีที่ห้องน้ำและห้องส้วมรวมอยู่ในห้องเดียวกัน ต้องมีขนาดพื้นที่ภายในของห้องไม่น้อยกว่า ๑.๕๐ ตารางเมตร แต่ถ้าห้องน้ำและห้องส้วมแยกกัน ต้องมีขนาดพื้นที่ภายในของแต่ละห้องไม่น้อยกว่า ๐.๙๐ ตารางเมตร และมีความกว้างภายในไม่น้อยกว่า ๙๐ เซนติเมตร
(“ข้อ 9” แก้ไขโดยกฎกระทรวงฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2551)ฯ
3.แบบขยายประตู หน้าต่าง เพราะต้องนำไปคิดพื้นที่ช่องระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ ที่ออกสู่หรือติดต่อกับภายนอกอาคาร ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39
ข้อ 13 ในกรณีที่จัดให้มีการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ ห้องในอาคารทุกชนิดทุกประเภทต้องมีประตู หน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศด้านติดกับอากาศภายนอกเป็นพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของพื้นที่ของห้องนั้น ทั้งนี้ ไม่นับรวมพื้นที่ของประตู หน้าต่าง และช่องระบายอากาศที่ติดต่อกับห้องอื่นหรือช่องทางเดินภายในอาคาร
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่อาคารหรือสถานที่ที่ใช้เก็บของหรือสินค้า
เราจึงจะเห็นได้ว่า แบบขยายทางสถาปัตยกรรม ที่เป็น แบบขยายอกไก่ แบบขยายตะเข้สัน แบบขยายเชิงชาย แบบขยายตะเข้ราง แบบขยายระเบียง แบบขยายส่วนประณีตทางสถาปัตยกรรม อื่นๆ
ไม่ต้องมี……ในแบบยื่นขออนุญาตฯ ซึ่งอาจจะมีแค่ 30 แผ่นเท่านั้น
เพราะเขียนมาท้องถิ่นไม่รู้จะเอากฎหมายตัวไหนไปตรวจ
ส่วนแบบที่นำไปใช้ในการก่อสร้าง (Shop Drawings) ที่เป็นแบบขยาย อกไก่ แบบขยายตะเข้สัน แบบขยายเชิงชาย แบบขยายตะเข้ราง แบบขยายระเบียง แบบขยายส่วนประณีตทางสถาปัตยกรรม อื่นๆ ต้องเขียนเข้าไปภายหลังได้ แบบที่จำเป็นต้องมีตามข้างบนก็ยื่นขออนุญาตไปก่อน แล้วค่ยเขียนเพิ่มเติม ทั้งนี้เนื่องจาก จะต้องมีความละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างนั่นเอง เช่น กรณีกระเบื้องมุงหลังคาหรือกระเบื้องปูพื้นหรือสุขภัณฑ์ อาจจะต้องระบุ ชนิด รุ่น สี ยี่ห้อ ทั้งนี้เนื่องจากราคาจะไม่เท่ากัน รวมทั้งรายละเอียดเทคนิคการติดตั้งด้วย
4.แบบขยายบ่อเกรอะ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 39 ข้อ 10 บ่อเกรอะ บ่อซึม ของส้วมต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร เว้นแต่ส้วมที่มีระบบกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ต้องตามหลักการสาธารณสุขและมีขนาดที่เหมาะสม ทั้งนี้ตามที่กระทรวงมหาดไทยด้วยความเห็นชอบของกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา
ครูผู้สอนจึงควรสอนว่าแบบยื่นขออนุญาตฯ มีข้อบังคับตามกฎหมายไว้แค่ไหน ส่วนแบบที่นำไปใช้ในการก่อสร้าง ควรมีแบบละเอียดอย่างไรบ้าง ซึ่งสามารถนำไปแบ่งชั้นความยาก ง่าย ตามระดับชั้นที่จัดการเรียนรู้
….

Loading