news

เรื่องราวของ “โตโยต้า โซลูน่า” รถยนต์พระที่นั่งในหลวงรัชกาลที่9 ที่ต่อมาพระราชทรัพย์ที่พระราชทานเป็นค่าซื้อรถได้กลายเป็นโรงสีข้าวช่วยเหลือชาวนา

หลายคนคงเคยเห็นภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งยี่ห้อ “โตโยต้า โซลูน่า” ด้วยพระองค์เอง โดยมีในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงประทับด้านหน้า และ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสดุาฯ ทรงประทับด้านหลัง
วรพล สิงห์เขียวพงษ์ คอลัมนิสต์ชื่อดังด้านยานยนต์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว วรพล สิงห์เขียวพงษ์ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาพถ่ายดังกล่าว โดยระบุว่า เรื่องนี้นำมาจากสารสภาวิศวกรรม ฉบับเดือน พ.ย. – ธ.ค. 2550 เล่าโดยคุณนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด คือ ช่วงปี 2540 หลังไทยประสบภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ วันที่ 5 พ.ย. 2540 มีข่าวลือในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าโตโยต้าจะปิดโรงงาน-ลอยแพพนักงาน 5,500 คน บริษัทฯ จึงจัดแถลงข่าวว่าไม่เคยคิดปิดโรงงาน
ต่อมามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยพนักงานโตโยต้า วันที่ 6 พ.ย. 2540 เลขานุการส่วนพระองค์ได้โทรศัพท์แจ้งว่า พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ ‘สั่งซื้อ’ รถโตโยต้า โซลูน่า 1 คัน โดยให้พนักงานใช้มือทำก็ได้ ไม่ต้องใช้เครื่องจักร ไม่ต้องรีบ พนักงานคนไทยจะได้มีงานทำนานๆ เมื่อนำรถไปถวายพระองค์ในเดือน ธ.ค.2540 พระองค์ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 600,000 บาท ทางโตโยต้าไม่รับเงิน จึงทรงมีพระราชดำริใหม่ว่า…ให้นำเงินไปตั้งโรงสีข้าว เพื่อช่วยเหลือชาวนาละแวกใกล้เคียงโรงงานผลิตรถ เพราะโตโยต้ามีการบริหารจัดการที่ดี จึงควรตั้งโรงสีข้าวตัวอย่างขึ้นเอง แล้วขายในราคาสวัสดิการให้แก่พนักงานหรือชาวบ้าน และขายผลพลอยได้ เช่น แกลบและรำ ให้แก่เกษตรกรชุมชนที่เลี้ยงหมู จึงเป็นที่มาของโรงสีข้าวรัชมงคล ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
โตโยต้าตั้งใจทำให้รถรุ่นดังกล่าวมีอะไรพิเศษ โดยติดชื่อรุ่นและเลขเป็นแบบไทย ไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคยมีทำในรุ่นต่อๆ มา ซึ่งโดยปกติแล้วญี่ปุ่นไม่น่ายอม รถที่จัดส่งมอบถวายเป็นสีฟ้าพิเศษ พร้อมผลิตจำหน่ายจริงในจำนวนจำกัดเป็นรุ่นลิมิเต็ด 600 คัน 2 สี คือ เป็นสีทูโทน น้ำตาลอ่อน-เข้ม ส่วนล่างสีเข้มกว่าตัวรถส่วนบน และสีเงินอมฟ้า รถเป็นรุ่นแรกที่ฝากระโปรงหลังยังไม่มีไฟเพิ่ม รถจดทะเบียนในปี 2541

Loading