news

จาก SWOT สู่ SWOC — ก้าวใหม่ของการวิเคราะห์องค์กร

โดย ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์
ศาสตราจารย์ ระดับ ๑๑ สายการศึกษา
ประธานคณะมนตรีปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน
(อดีตที่ปรึกษาฝ่ายฝึกอบรมของ CDG-SEAPO และนักวิเคราะห์ SWOT Analyst 2524-2530)
เมื่อ พ.ศ 2508 กว่า 50 ปีมาแล้ว เกิดนวัตกรรมการวิเคราะห์องค์กรขึ้น เรียกว่า SWOT
SWOT Analysis พัฒนาขึ้นพร้อมๆ กัน ใน 2 สถาบัน คือ Stanford University’s Long Range Plan Service และ Harvard University Graduate School of Business Administration
(1) Stanford University’s Long Range Plan Service พัฒนาโดย Robert F. Stewart, Otis J.Benepe และ Arnold Mitchell ในเอกสาร ชื่อ Formal Planning: The Staff Planners’ Role and Start-Up
(2) Harvard University Graduate School of Business Administration พัฒนาโดย Edmund P.Learned, C. Roland Christensen, Kenneth R. Andrew, and William D.Guth ในตำราเรื่อง Business Policy: Text and Cases
ทั้งสองสถาบันเน้นการประเมินสถานการณ์ด้วยการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน (Internal Factors: Strenght and Weakness) และปัจจัยภายนอก (External Factors: Opportunity and Threats) และใช้ตัวย่อ SWOT เหมือนกัน
SWOT เป็นวิธีการวิเคราะห์องค์กรด้วยการระบุปัจจัยภายในที่องค์กรมีอำนาจควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ คือ จุดแข็ง (S-Strength) จุดอ่อน (W-Weakness) และปัจจัยภายนอก ที่องค์กรไม่มีอำนาจไปควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้ คือ โอกาส (O-Opportunity) และ ภาวะคุกคามคืออุปสรรค หรือ ความเสี่ยง (T-Threats)
ในการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และความภาวะคุกคามหรือความเสี่ยง ผู้วิเคราะห์มักจะวิเคราะห์ทีละตัว แต่นิยมทำเป็นกากะบาดขนาดใหญ่ แล้วเขียน SWOT ตรงมุมที่เส้นตั้งและเส้นนอนตัดกัน วิเคราะห์และระบุข้อดี จุดอ่อน โอกาส และภาวะคุกคาม บันทึกผลการวิเคราะห์เป็นข้อๆ ในช่องว่างของกากะบาดทั้ง 4 ตรงช่อง SWOT ตามลำดับ
ในกรณีการดำเนินโครงการใหญ่ ที่มีผู้เสนอหลายทางเลือกจำเป็นต้องเปรียบเทียบทางเลือก (Alternative Approaches) ตั้งแต่ ๒ ทางเลือกขึ้นไป เพื่อให้ได้ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพื่อปัองกันอคติที่จะถูกบังคับให้ใช้ทางเลือกของผู้บังคับบัญชา ที่อาจมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ด้วยการระบุจุดอ่อน จุดแข็ง โอกาสและความเสี่ยงอย่างง่ายๆ เป็นข้อๆ แล้วนับจำนวนข้อมาหักล้างกัน ก็อาจจะไม่ได้คำตอบ ที่เชื่อถือได้ นักวิเคราะห์ SWOTจำเป็นต้องให้น้ำหนักของแต่ละข้อเป็นคะแนน โดยไม่จำเป็นต้องให้คะแนนแต่ละข้อเท่ากัน (ส่วนมากก็ให้ข้อละ ๑ คะแนน) แต่จะให้น้ำหนักข้อหรือประเด็นที่มีความสำคัญมาก จึงควรให้น้ำหนักมากว่า อาจให้ ๒ หรือ ๓ คะแนน เป็นต้น หลังจากนั้น ก็นำมารวมและหักลบ เพื่อดูว่าทางเลือกไหนได้คะแนน SWOT สูงกว่า องค์กรก็จะนำทางเลือกนั้นมาสู่การปฏิบัติ
ในกรณีหาค่าน้ำหนัก สูตรที่มักจะใช้ คือ SWOT= (S+O) – (W+T) แต่อาจใช้สูตรหรือวิธีการคำนวณโดยใช้แอปส์คอมพิวเตอร์แทนการคำนวณด้วยมือ
วิธีการวิเคราะห์แบบ SWOT ใช้แพร่หลายมายาวนาน แม้ในปัจจุบันก็ยังมีหน่วยงานใช้อยู่ เพราะอาจไม่ทราบว่า SWOT มีข้อจำกัด
วันเวลาผ่านไป นักวิเคราะห์พบว่า การใช้วิธีวิเคราะห์องค์กรด้วย SWOT มีจุดอ่อน คือ เมื่อระบุภาวะคุกคามคือความเสี่ยงหรืออุปสรรคแล้ว ก็มักจะหยุด มิกล้าดำเนินการต่อเพราะไม่กล้าเสี่ยง เหมือนกับเดินมาถึงกำแพงหรือทางตันก็ท้อถอย หมดแรงสู้ นักวิเคราะห์จึงเสนอทางแก้ด้วยการคิดบวก ฮึดสู้ หาทางการก้าวข้ามภาวะคุกคาม คือ ความเสี่ยงหรืออุปสรรค ด้วยการเสนอทางออกที่ท้าทาย เพื่อเอาชนะภาวะคุกคามนั้นๆ จึงมีการเปลี่ยน T-Threats คือ ภาวะคุกคาม เป็นความท้าทาย C-Challenges (มิใช่ C ที่มาจาก Constraints)
SWOC เป็นนวัตกรรมการวิเคราะห์องค์กรที่ต่อยอดจาก SWOTเมื่อประมาณ ๑๐ ปีมาแล้ว ด้วยการระบุปัจจัยภายในที่องค์กรมีอำนาจควบคุมและปรับเปลี่ยนได้ คือ จุดแข็ง (S-Strength) จุดอ่อน (W-Weakness) และปัจจัยภายนอก ที่องค์กรไม่มีอำนาจไปควบคุมหรือปรับเปลี่ยนได้ คือ โอกาส (O-Opportunity) และความท้าทาย (C-Challenges) ที่ระบุแนวทางเอาชนะภาวะคุกคาม คืออุปสรรคหรือความเสี่ยงที่องค์กรกำลังเผชิญอยู่
นักวิชาการบางคนใช้ SWOC แทน SWOT เพราะใช้ C-Constraints และบอกว่า ใช้แทนกันได้ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง เพราะ Constraints แปลว่า สภาพบีบคั้น ซึ่งเบากว่า Treats ที่แปลว่า การขู่เข็นคุกคาม หากเป็นอันเดียวกัน จะบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาทำไม จึงยืนยันว่า C-ไม่ใช่ Constraints แต่เป็น Challenges ฉะนั้น SWOC จึงเป็นการต่อยอดของ SWOT
ในการทำแผนพัฒนาองค์กร นักวิเคราะห์จึงควรใช้การวิเคราะห์ SWOC แทนที่จะหยุดอยู่แค่ SWOT เท่านั้น
วิธีดำเนินการวิเคราะห์ SWOC จะ ใช้แนวเดียวกับ SWOT ยกเว้น การวิเคราะห์ตัว Challenges ที่จะต้องระบุภาวะคุกคามคือ อุปสรรคหรือความเสี่ยงก่อน ให้เป็นส่วนขยายของจุดอ่อน และเสนอแนะคำตอบ หากยังหาคำตอบไม่ได้ ก็ให้ตั้งคำถามไว้ว่า แต่ละอุปสรรค จะก้าวข้ามไปได้อย่างไร
สูตรที่ใช้ในการคำนวณ SWOC ฝรั่งอาจมีหลายแนว ผู้เขียนจึงเสนอ
SWOC =(S+O+C) – (W+T)
อย่าลืมว่า การวิเคราะห์จะต้องระบุภาวะคุกคาม คือ อุปสรรคและความเสี่ยงก่อน แล้วจึงเสนอทางแก้ไขที่ท้าทายเพื่อเอาชนะภาวะคุกคามนั้นๆ
จุดเน้นที่ทำให้ SWOC ดีกว่า SWOT คือ ใน SWOC Analysis เมื่อระบุภาวะคุกคามคือ อุปสรรคแล้วก็เหมือนมาพบทางตัน แม่น้ำหรือเขาสูง ขวางกั้น ก็จะไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่คิดบวกสร้างกำลังใจเอาชนะภาวะคุกคามคือ อุปสรรคหรือความเสี่ยงทันที ก็จะได้ทางแก้ไขอุปสรรค ที่จะทำให้ทีมวิเคราะห์มีกำลังใจ หัวใจพองโต และมุ่งมั่นที่จะเห็น ความสำเร็จที่ท้าทายนั้น
ยุคนี้จึงควรเลิกใช้ SWOT แต่มุ่งมองไปข้างหน้า คิดบวก และหาทางเอาชนะภาวะคุกคาม คือ อุปสรรคหรือความเสี่ยงแทน โดยยึดหลักเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ความสำเร็จก็จะบรรลุผล สมดังภาษิต “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”
(ปรับขยาย จากบทความเดียวกัน ที่เสนอเมื่อ 29 กันยายน 2559)