news

การเรียนรู้ตลอดชีวิตและสังคมแห่งการเรียนรู้ในประเทศไทย

เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต lifelong learning และ สังคมแห่งการเรียนรู้ หรือ learning society ได้มีการเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่ก่อนปี 2523 ช่วงแรกๆที่เข้ามามีความสับสนของคำที่ใช้ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาไทย เอกสารภาษาอังกฤษยุคนั้นใช้คำว่า lifelong learning ก็มี บางแห่งใช้คำว่า lifelong education ก็มี ในภาษาไทยเราจึงมีทั้งคำว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต กับ การศึกษาตลอดชีวิต และจากที่ใช้ตามกันมาโดยไม่เฉลียวใจภาษาที่เป็นทางการในช่วงต่อมาจึงใช้คำว่า การศึกษาตลอดชีวิต โดยเริ่มจากงานที่เคยเสนอในกรมการศึกษานอกโรงเรียน ราวปี 2528 และใช้กันจนติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน ความสับสนในการใช้คำทั้งสองคือการศึกษาตลอดชีวิตหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในภาษาไทยยังเห็นได้ชัดเจนจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่ภาษาอังกฤษได้ใช้คำว่า lifelong learning เพียงคำเดียวเป็นหลักมานานมากแล้ว
เรื่องนี้ถ้าแยกแยะระหว่างคำว่า “การศึกษา” ซึ่งเป็นกระบวนการมีความตั้งใจ มีเป้าหมายและวิธีการบรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม กับคำว่า “การเรียนรู้” ที่หมายถึงทั้งกระบวนการ และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ดังนั้นคำว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ lifelong learning จึงน่าจะเป็นคำที่ถูกต้องกว่า เพราะคงไม่มีผู้ใดสามารถตามไปจัดการศึกษาตลอดช่วงชีวิตของแต่ละบุคคลได้ แต่เป็นไปได้ที่จะส่งเสริม สร้างบรรยากาศ ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคนได้ต่อไป เรื่องนี้แม้จะเป็นเรื่องการโต้แย้งทางวิชาการแต่เนื่องจากมีผลต่อการจัดการในประเทศไทยจึงน่าจะหาข้อยุติเพื่อเดินหน้าการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้ควบคู่ไปความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาโดยรวมต่อไป
ในประเทศไทยคำว่า learning กับ education ยังต้องหาข้อยุติที่ถูกต้องในกรณีอื่นอีกด้วย เพราะได้มีการใช้คำว่า การศึกษาตามอัธยาศัย ที่ได้สร้างความสับสนและผิดแปลกไปจากความเข้าใจในระยะแรกมากมาย จากงานของ Coombs กับ Ahmed ที่เสนอการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาในยุคที่มีการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วแต่ทรัพยากรทางการศึกษาขาดแคลน ได้วิเคราะห์ให้เห็นว่าเรามีทางเลือก หรือ mode ที่จะช่วยแก้ไขข้อจำกัดด้านทรัพยากรเพื่อการศึกษาหลายแนวทาง โดยเริ่มใช้คำว่า formal education คือการศึกษาแบบระบบโรงเรียนที่เป็นแบบแผนที่คุ้นเคยกัน ที่เราเรียกเป็นภาษาไทยว่าการศึกษาในระบบ และผู้เกี่ยวข้องทุกคนในวงการศึกษาต่างเข้าใจเรื่องนี้ตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่มีความตั้งใจ มีเป้าหมายและวิธีการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นแบบแผนที่เกิดนอกระบบโรงเรียนอีกมากมาย เช่น การฝึกอบรม เผยแพร่ หรือ การให้ความรู้ ทักษะ เจตคติ ผ่านกระบวนการและช่องทางที่หลากหลาย ที่ผู้เขียนเรียกว่า nonformal education ที่เป็นการศึกษาที่แตกต่างหรือเกิดขึ้นนอกจากระบบการศึกษาในโรงเรียน ที่เรียกเป็นภาษาไทยว่า การศึกษานอกระบบ แต่ในปัจจุบันการจัดการศึกษานอกระบบของไทยชักเริ่มใช้ในความหมายที่แตกต่างไปจาก nonformal education เดิม เนื่องจาก Coombs และ Ahmed ยังวิเคราะห์ต่อไปเห็นว่านอกเหนือจากการได้รับการศึกษาที่ตั้งใจ รู้ตัว มีเป้าหมาย และวิธีการชัดเจนแล้ว บุคคลยังอาจเรียนรู้ จากกิจการที่ไม่ได้เป็นความตั้งใจของใครทั้งสิ้น เช่นการเลียนแบบของเด็ก การแอบสังเกต การสรุปบทเรียนจากความสำเร็จหรือความผิดพลาดบางอย่างจากการดำเนินชีวิต Coombs และ Ahmed เลือกใช้คำเรียกกิจกรรมทำนองนี้ว่าเป็น informal learning แต่หลายคนรวมทั้งคนไทยจำนวนมากไม่ได้เฉลียวใจ เลยเรียกตามสองคำแรก กลายเป็น formal education, nonformal education กับ informal education ซึ่งคำหลังนี้ผิดจากความคิดเดิมคือ informal learning และยิ่งเรียกกิจกรรมเหล่านี้ว่าเป็น การศึกษาตามอัธยาศัย จึงมีแนวโน้มทำให้เกิดความผิดพลาดมากยิ่งขึ้น เพราะคำว่า ตามอัธยาศัย ในภาษาไทยเป็นไปตามความสะดวกความพอใจของบุคคลไม่ได้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า informal คือความที่ไม่เป็นแบบแผน เลยแม้แต่นิดเดียว คำว่าการศึกษาตามอัธยาศัยของหน่วยงาน กศน. ในประเทศไทย ที่รวมกิจกรรมทางการศึกษาผ่านช่องทางและสื่อต่างๆที่สามารถศึกษาได้เป็นรายบุคคล จึงเป็นเพียงส่วนของ nonformal education ตามนิยามที่เสนอโดย Coombs และ Ahmed ที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามลำพังไป ส่วนเรื่อง informal learning ตามความหมายดั้งเดิมจึงตกหล่นไม่ได้รับความสนใจตั้งแต่นั้นมา โปรดดูข้อสรุปข้างล่างประกอบ
ข้อเสนอของ Coombs & Ahmed กับการจัดการศึกษาของไทย
Formal Education =การศึกษาในระบบ ตรงกัน
Nonformal Education
การศึกษานอกระบบ = NFE ที่เป็นชั้นเรียน/กลุ่ม
การศึกษาตามอัธยาศัย = NFE ที่ศึกษาตามลำพัง
Informal Learning —– ส่วนที่ตกหล่น
เมื่อคำว่า lifelong learning หรือบางครั้งเพี้ยนว่า lifelong education เข้ามาในประเทศไทยช่วงแรกๆ ได้ผ่านเข้ามาทางนักการศึกษานอกระบบ และน่าจะเป็นกลุ่มเดียวที่สนใจความคิดเรื่องนี้ และเห็นว่าเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (ที่ใช้ตามๆกันมาอย่างไม่ถูกต้องว่าเป็นการศึกษาตลอดชีวิต) ฝ่ายนักการศึกษานอกระบบไม่อาจได้ตามลำพัง จำเป็นต้องร่วมกับอีกสองแนวทาง หรือ mode คือการศึกษาในระบบ กับอีกแนวทางหนึ่งคือ informal learning (ที่เรียกตามกันมาอย่างผิดๆว่า การศึกษาตามอัธยาศัย) นิยามเกี่ยวกับการศึกษาตลอดชีวิต(ซึ่งผิดตั้งแต่ต้น)จึงประกอบด้วยการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย(ที่แปลตามรากศัพท์ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ informal learning ไป) นิยามนี้ทำให้การศึกษาตลอดชีวิตไม่มีอะไรแตกต่างจากคำว่าการศึกษา(โดดๆ) เลย แม้จะเป็นนิยามที่ไม่ได้ผิดอย่างสิ้นเชิงก็ไม่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือการศึกษาตลอดชีวิตอย่างหนึ่งอย่างใดได้ทั้งที่ได้มีการพูดถึงอย่างต่อเนื่องมายาวนานจนถึงปัจจุบัน
คำว่า lifelong learning แม้จะมีการใช้เป็นทางการในเดนมาร์คตั้งแต่ปี 1971 แต่ตัวความคิดเบื้องหลังอาจนับไปได้จากข้อเสนอของ Dewey เรื่อง Education is Life “Education is not prepare for life; Education is life itself”. แม้ว่า Dewey ไม่ได้เสนออะไรเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และยังใช้คำว่า Education ด้วยซ้ำไป แต่สาระของข้อความดังกล่าวแสดงถึงความจำเป็นในการที่บุคคลจำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตไม่ใช่เพียงการเรียนเพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ใหญ่ในช่วงวัยเด็กเท่านั้น
ย้อนกลับมากล่าวเรื่องคำว่า การศึกษาตลอดชีวิต ในประเทศไทยได้นิยามโดยใช้แนวทาง-mode ของการเรียนหรือการศึกษาเป็นหลัก การศึกษาตลอดชีวิตจึงประกอบด้วยการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย นิยามในลักษณะนี้ได้ระบุไว้ใน พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 ไม่อาจทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ ถ้าจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเป้าหมายแนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ “เหมาะสม“ กับแต่ละช่วงวัย มี “ความต่อเนื่อง“ ประกอบด้วยสาระที่ “จำเป็น “ ในการใช้ชีวิตหรือดำรงชีวิตของคนในแต่ละวัยหรือแต่ละช่วงชีวิต ต่อยอดจากความรู้เดิม ผนวกกับเรื่องราวที่จำเป็นต้องเรียนรู้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน และลุ่มลึกมากขึ้นเมื่อเข้าสู่แต่ละช่วงวัยอย่างสมบูรณ์
สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเริ่มมีการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุเกิดขึ้นประปราย มีหลายคนหรือหลายหน่วยงานอ้างว่านี่คือส่วนของการศึกษาตลอดชีวิต แต่ถ้าพิจารณาลงไปถึงรายละเอียดจะเห็นว่าก็ยังไม่ใช่ การศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องไม่แยกส่วนเป็นขนมชั้น แต่ต้องมีการเชื่อมต่อสิ่งที่เรียนรู้ในแต่ละวัยได้ คำหลักหลายคำที่ต้องหยิบยกขึ้นมาเพื่อริเริ่มสร้างสรรค์ให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงได้แก่ ความต่อเนื่อง บูรณาการกับการดำรงชีวิต ตอบสนองการดำรงชีวิตในแต่ละช่วงวัย เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขเฉพาะของบุคคล ยืดหยุ่น หลากหลาย ฯลฯ
การจัดการศึกษาตลอดชีวิตในประเทศไทยปัจจุบันที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานทางการศึกษานอกระบบแท้ที่จริงแล้วจึงมีความหมายเพียงการจัดการศึกษาต่อเนื่อง Continuing Education ให้แก่คนที่ออกจากระบบการศึกษา และส่วนใหญ่เน้นความรู้ระดับพื้นฐานมากว่า ส่วนการศึกษาต่อเนื่องในระดับที่สูงกว่ามีการจัดแก่กลุ่มเป้าหมายเฉพาะโดยสมาคมวิชาชีพ สถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามวัตถุประสงค์เฉพาะ
เรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความซับซ้อนสูงมาก ขึ้นอยู่กับโอกาส พื้นฐาน วัย และสังคมที่อาศัยอยู่ แม้จะมีการยอมรับว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิตประกอบไปด้วยการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการเรียนรู้ที่ไร้รูปแบบ (informal learning) แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่เคยมีโอกาสได้รับการศึกษาในระบบมาก่อนเลย และได้รับการศึกษานอกระบบบ้างเพียงน้อยนิด จึงต้องดิ้นรนที่จะต้องแสวงหาความรู้จากทุกช่องทางที่เปิดให้เพื่อการมีชีวิตรอดได้ นี่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตซึ่งกระท่อนกระแท่นเต็มทีสำหรับผู้ด้อยโอกาสจำนวนมาก
หากมองสาระในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อาจเห็นได้ไม่ยากว่าการเรียนรู้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในวัยเด็กอาจมีลักษณะร่วมกันมากเนื่องจากความพร้อม ความสนใจ และสาระที่จำเป็นต้องเรียนรู้มีลักษณะร่วมกันมาก เด็กเรียนรู้ ภาษา วัฒนธรรม การดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน และมีเริ่มเข้าโรงเรียนเบื้องต้นก็ได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ นิสัยบางอย่างร่วมกัน แต่เมื่ออายุมากขึ้นประสบการณ์ ความพร้อม ความจำเป็นในการเรียนรู้มีความหลากหลายจนทำให้เรื่องที่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อการดำรงชีวิตของแต่ละคนแตกต่างมากขึ้นจนไม่สามารถจัดการศึกษาในลักษณะเหมารวมได้อีก การจัดการศึกษาตลอดชีวิตจึงน่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ผู้สูงอายุมีพื้นฐานประสบการณ์ต่างกัน บางคนต้องใช้ชีวิตตามลำพัง บางคนเป็นสมาชิก กลุ่ม ชมรมต่างๆ บางคนมีชีวิตที่แทบจะไม่ต้องเกี่ยวข้องกับใครเลย ทางออกคือการส่งเสริมให้เข้าถึงกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเงื่อนไข พื้นฐาน และความจำเป็นในการดำรงชีวิตของแต่ละบุคคลหรือกลุ่มคนเท่านั้น
การเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตแม้จะได้มีข้อเสนอแนะ มีการเผยแพร่มาหลายทศวรรษแต่ในสังคมไทยยังแทบจะเรียกได้ว่ายังไม่ผ่านจุดเริ่มต้นเลย มีข้อเสนอให้ปลูกฝังทักษะ นิสัย เครื่องมือ และพื้นฐานเพื่อให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ตั้งแต่วัยเด็ก แต่การเรียนการสอนยังคงเป็น talk and chalk ที่เด็กหรือผู้เรียนต้องรอเป็นผู้รับ-passive มาโดยตลอด และถูกกดดันให้ต้องรับรู้เรื่องต่างๆมากมายมหาศาล นักเรียนใช้เวลาเกือบทั้งหมดในเรื่อง learning to know มีเวลาเล็กเพียงน้อยเพื่อ learning to do หลายคนอาจใช้เวลาส่วนตัวตามความสนใจเพื่อ learning to live together และคงจะไม่ผิดนักที่แทบจะไม่มีใครได้รับเรื่อง learning to be กันเลย และที่จริงแล้วมีครูไม่กี่คนเท่านั้นที่เข้าใจเรื่อง learning to be นี้ สภาพการเรียนการสอนเท่าที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยเกี่ยวข้องใดๆกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ข้อเสนอที่น่าจะเป็นประโยชน์ อาทิเช่น การเรียนจากโครงงาน การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ที่ช่วยให้บุคคลเรียนรู้วิธีการเรียนยังไม่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางเป็นรูปธรรม ทั้งเงื่อนไขภายในและภายนอกระบบการศึกษาเอง เมื่อขาดพื้นฐานความรู้ ความคิด ทักษะนิสัย ที่มั่นคงเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตในวัยเด็ก ผู้ใหญ่ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาไปแล้วจึงพึ่งตัวเองได้เพียงเล็กน้อยในการที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต
สังคมไทยยังห่างไกลต่อการเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ขาดแคลนบรรยากาศที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ได้สร้างคนให้มีพื้นฐานความรู้ความสามารถ นิสัยที่เพียงพอเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของตนเอง ที่น่าจะเป็นปัญหาหนักหน่วงที่สุดคือแม้แต่นักวิชาการทางการศึกษาก็แทบจะไม่เข้าใจอะไรเลยเกี่ยวกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีจุดเริ่มต้นมากมาย และมีเส้นทางยากง่ายต่างกันมากมายในการช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการกระตุ้น สนับสนุน สร้างพลังอำนาจและความต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นระบบ แต่ที่ผ่านมายังแทบเรียกว่าไม่ได้ดำเนินอะไรกันอย่างเป็นระบบเลย ที่ผ่านมาจึงขึ้นกับโชคชะตา โอกาส และเงื่อนไขเฉพาะแบบตัวใครตัวมัน มีช่วงว่างมหาศาลระหว่างผู้มีโอกาส กับผู้ด้อยโอกาสเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย บางคนมีโอกาสเหลือเฟือกับบางคนที่มีโอกาสเกือบเป็นศูนย์
จำเป็นต้องสร้างความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ไม่ใช่แค่การศึกษาต่อเนื่องในช่วงหลังของชีวิต แต่ต้องปลูกฝังนิสัยและความสามารถที่จะแสวงหาความรู้ที่เหมาะสม สอดคล้องกับชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่โอกาสแรก การริเริ่มให้เกิด learning how to learn ตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และเรียนรู้ในเรื่องนี้ที่ก้าวหน้ามากขึ้นตามลำดับ ลงทุนจัดสรรทรัพยากรเพื่อสร้างพื้นฐานทักษะ นิสัย ความรู้ และเครื่องมือจำเป็นที่เพียงพอในการเรียนรู้ตลอดชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก สร้างบรรยากาศ แหล่งการเรียนรู้ การเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ต่อเนื่อง เหมาะสมกับบริบทในการดำรงชีวิตของแต่ละบุคคล ชุมชน ที่แตกต่างกันมาก
ยอมลงทุน และกล้าเผชิญความยากลำบากในการสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตั้งแต่วัยเยาว์ จัดลำดับความสำคัญระหว่างการเรียนรู้เนื้อหากับการเรียนรู้วิธีการเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงในการปฏิรูปการศึกษาเสียใหม่ น่าจะช่วยให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า และยั่งยืน เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างครอบคลุมในระยะยาว
ข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตในประเทศไทย
การเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก และมีอัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ การศึกษาที่บุคคลได้รับในช่วงเวลาหนึ่ง หรือ จากสถานการณ์หนึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ประโยชน์ได้ในโอกาสและสถานที่อื่นได้อีก จำเป็นที่บุคคลต้องได้รับความรู้เพิ่มเติมในทุกช่วงชีวิต และในทุกสถานการณ์ของการดำรงชีวิต บุคคลจึงต้องเรียนรู้วิธีการเรียน เพื่อสร้างสรรค์ ริเริ่ม สนองตอบและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง จัดการความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น และสามารถเรียนรู้เรื่องราวที่เกี่ยวข้องตลอดช่วงชีวิต
จุดมุ่งหมายในส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงประกอบด้วย การส่งเสริมให้บุคคลเกิดความปรารถนาในการเรียนรู้ การส่งเสริมปัญญาความเฉลียวฉลาดให้แก่บุคคลเพื่อให้สามารถปรับตัวดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ การส่งเสริมความสามารถในการคิดให้แก่บุคคลเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ มีความสามารถในการคิดและนิสัยในการคิดที่ถูกต้อง และการส่งเสริมเสรีภาพของบุคลเพื่อให้สามารถใช้พลังและศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่
หลักการสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่พึงประสงค์คือ มีเนื้อหาสาระที่เกี่ยวพันใกล้ชิดกับการดำรงชีวิต และมีความต่อเนื่อง เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นโดยไม่มีขีดจำกัดด้านเวลา หรือช่วงวัย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์การดำรงชีวิตที่หลากหลาย และเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่ง เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจเพื่อให้บุคคลสามารถพึ่งตนเองทางการเรียนรู้ได้ในระยะยาว เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากความต้องการการเรียนด้วยตนเองของผู้เรียน และ มีเป้าหมายเพื่อให้บุคคลมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมไทย ควรจะเริ่มจากการใช้สาระและประโยชน์จากการสอน และการศึกษาในวัยต้นเริ่มตั้งแต่ก่อนวัยเรียนเพื่อการสร้างพื้นฐานนิสัย ความสามารถในการเรียนรู้ อ่าน เขียน คิด ค่านิยม คุณธรรม ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปคือการสร้างเงื่อนไข บรรยากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ปัญญาและการแสวงหาความรู้ สังคมแห่งการเรียนรู้เป็นเงื่อนไขที่ทำให้การเรียนรู้ตลอดชีวิตเกิดได้ง่ายขึ้น รู้จักใช้ประโยชน์จากความคิดเรื่องการศึกษาต่อเนื่องเพื่อเสริมคุณค่า ทักษะ ความหมายเป็นระยะๆโดยไม่เลือกรูปแบบ ระดับ หรือสาขา จำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะเปิดกว้างในการใช้ประโยชน์จากจากสื่อและช่องทางการเรียนรู้อื่น กระบวนการปลูกฝังพื้นฐานทักษะเพื่อการเรียนรู้ และคุณค่ารสนิยมต่างๆต้องใช้เวลา เงื่อนไข บรรยากาศ และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญมากในการทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นทั้งเหตุและผลของส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาต่อเนื่อง ต้องเป็นการศึกษาในความหมายที่ให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน ต้องการคนทำงานที่ทำหน้าที่หลายด้านเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น trainer, coach, mentor, facilitator ฯลฯ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตกระบวนการสำคัญกว่าเนื้อหา ความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตอยู่ที่วัย สถานที่ และสาระที่เปิดกว้างตราบเท่าที่จะช่วยให้บุคคลได้รับการพัฒนาความรู้ ความคิด นิสัยและทักษะเพื่อการดำรงชีวิต
สังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเริ่มมีการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุเกิดขึ้นประปราย อย่างไรก็ตามการศึกษาหรือการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องไม่แยกส่วน แต่ต้องเชื่อมต่อสิ่งที่เรียนรู้ในแต่ละวัย การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงต้องการ ความต่อเนื่อง บูรณาการกับการดำรงชีวิต ตอบสนองการดำรงชีวิตในแต่ละช่วงวัย เหมาะสมกับบริบทและเงื่อนไขเฉพาะของบุคคล ยืดหยุ่น หลากหลาย
การเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้จำเป็นต้องลงทุนเพื่อปลูกฝังทักษะ นิสัย เครื่องมือ และพื้นฐานเพื่อให้สามารถเรียนรู้ตลอดชีวิตได้ตั้งแต่วัยเด็ก และการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องการเห็นบทบาทของผู้เรียนที่ active กิจกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในวัยต้นอาจต้องใช้ การเรียนจากโครงงาน การเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ฯลฯ และมีเงื่อนไขภายในและภายนอกระบบการศึกษาที่เอื้อเพื่อสร้างพื้นฐานที่มั่นคงเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตตั้งแต่วัยเด็ก
ในขณะเดียวกันต้องลงทุนและสร้างความร่วมมือเพื่อการสร้างบรรยากาศที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างคนให้มีพื้นฐานความรู้ความสามารถ นิสัยที่เพียงพอเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ใช้การกระตุ้น สนับสนุน สร้างพลังอำนาจและความต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างเป็นระบบ และเกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ึงประสงค์ได้ต่อไป
ชูเกียรติ ลีสุวรรณ์ สค.59

Loading